บันทึกการทำ LASIK

Icegotcha's avatar
บันทึกการทำ LASIK

ผู้เขียน ไอซ์ เป็นคนสายตาสั้นมาก ได้ใส่แว่นเป็นครั้งแรกตอน ป.5 ด้วยค่าสายตา 400+ และค่าสายตาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 400 ไป 600 จาก 600 ไป 700 แล้วล่าสุดก็เป็น 750 ณ เวลานั้น ไอซ์ต้องใส่แว่นตลอดตั้งแต่ตื่นนอน ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ถอดแว่นออก เพราะถ้าถอดแว่นออก โลกทั้งใบก็จะมัวไปหมด

ไอซ์ใส่แว่นเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายนับเป็นเวลาสิบปีแล้ว แต่ก็เจอปัญหาที่น่ารำคาญใจอยู่เหมือนกัน และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ตัดสินใจเข้าโรงพยาบาลเพื่อแก้ปัญหาสายตาที่เรื้อรังด้วยวิธีที่เรียกว่า LASIK

บทความนี้จะมาเล่าประสบการณ์การทำ LASIK ให้ทุกคนได้อ่านกัน

https://images.unsplash.com/photo-1497211419994-14ae40a3c7a3?ixlib=rb-4.0.3&q=85&fm=jpg&crop=entropy&cs=srgb

ด้วยความที่เป็นคนที่สายตาสั้นมาก บวกกับใช้ชีวิตกับคอมพิวเตอร์แทบจะตลอดเวลา ไอซ์ต้องใช้แว่นตาใช้เลนส์ที่มี index สูง ๆ (หรือที่เรียกกันว่าเลนส์ย่อบาง) และกรองแสงสีฟ้าได้ ซึ่งมันมีราคาแพงมาก (เคยจ่ายถึง 12k+ บาทมาแล้ว //ทรุด) ก็เลยใช้แว่นอยู่คู่เดียวตลอด เหมือนเป็นอวัยวะหนึ่งที่อยู่บนร่างกายเลย

ที่นี้ ไอซ์ก็ใส่แว่นตัวล่าสุดมาร่วม 4 ปีแล้ว ด้วยการใช้งานไม่หยุดหย่อนทำให้ขาแว่นกางออก และใส่ไม่ค่อยอยู่ เวลาก้มก็จะร่วงหล่นบ่อย ทำให้ไอซ์ต้องระวังเรื่องการก้มและการเดินมากขึ้น โดยเฉพาะตอนลงเดินบันได และนั่นทำให้ไอซ์รู้สึกไม่มั่นใจ ส่งผลต่อท่าทางและบุคลิก ถ้าส่งซ่อมก็จะไม่มีใส่ จะซื้อแว่นใหม่ใส่ก่อนก็แพงเกิน

เลยทำให้มีความคิดที่จะทำเลสิคขึ้นมา

อย่างที่หลายคนรู้กัน เลสิคเป็นวิธีการรักษาแก้ปัญหาสายตาแบบหนึ่ง ซึ่งแก้ได้หมดเลย ทั้งสายตาสั้น สายตาเอียง และสายตายาว การรักษาก็จะเริ่มที่ใช้มีดเปิดกระจกตาเพื่อให้แสงเลเซอร์ส่งไปถึงเลนส์ตาที่อยู่อีกชั้น จากนั้นก็จะมีการปรับแต่งเลนส์ให้เข้าที่โดยใช้แสงเลเซอร์ หลายคนอาจจะกลัว เพราะมีการใช้มีดและยิงแสงเลเซอร์เข้าตรงที่ตานั่นแหละ แต่ขอบอกว่า ตอนทำจริง ๆ มันไม่น่ากลัวหรอกนะ

ก่อนที่จะทำเลสิค เราจะต้องสำรวจตัวเองเล็กน้อย ว่าเราพร้อมที่จะทำแล้วหรือยัง สรุปคร่าว ๆ จากที่อ่านมาคือ

  1. ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป
  2. สายตาต้องคงที่อย่างน้อย 1 ปี
  3. ต้องไม่มีโรคตา เช่น โรคกระจกตาย้วย หรือกระจกตารูปกรวย เปลือกตาอักเสบเรื้อรัง เป็นแผลที่กระจกตา จอประสาทตามีรู ผิวตาดำไม่เรียบ ตาแห้งมากๆ โรคต้อกระจก โรคต้อหิน โรคประสาทตาเสื่อม
  4. ต้องไม่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง เบาหวาน HIV และโรคอื่น ๆ ที่มีผลต่อสายตา และการสมานแผลหลังผ่าตัด
  5. จะต้องไม่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตร เพราะระดับฮอร์โมนมีผลต่อระดับค่าสายตา

เมื่อพร้อมแล้ว ก็ไปทำได้ที่ศูนย์เลสิคใกล้บ้านที่เราไปสะดวกที่สุด (เพราะต้องไปผ่าตัด และก็มีตรวจหลังผ่าตัดอีกหลายครั้ง) แต่ละที่จะมีการรักษาและราคาต่างกัน สามารถหาอ่านกันได้เพื่อเปรียบเทียบ

แล้วมีที่ไหนรับทำเลสิคบ้างล่ะ? เท่าที่ไอซ์หา ก็มีตามนี้

  • TRSC International LASIK Center
  • ศูนย์เลสิคและจักษุ โรงพยาบาลยันฮี
  • ศูนย์เลสิก โรงพยาบาลกลาง
  • ศูนย์เลสิค โรงพยาบาลพระราม 9
  • ศูนย์เลสิก โรงพยาบาลไทยนครินทร์
  • ศูนย์เลสิค โรงพยาบาลวิภาวดี
  • ศูนย์เลสิก โรงพยาบาลลาดพร้าว
  • ศูนย์เลสิค โรงพยาบาลปิยะเวท
  • ศูนย์จักษุและเลสิก โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง
  • ศูนย์เลสิก สุวรรณภูมิ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 1
  • ศูนย์เลสิก โรงพยาบาลตา หู คอ จมูก

รายการข้างบนนี้เป็นศูนย์เลสิคที่อยู่ในกรุงเทพ

ส่วนตัวไอซ์ทำที่ศูนย์เลสิค โรงพยาบาลลาดพร้าว มีหลายคนแนะนำมามาก เพราะที่นี่มีหมอเก่ง ๆ ในนั้น แถมราคาก็เป็นมิตรอีกด้วย ตอนที่โทรไป เจ้าหน้าที่ให้เราเลือกว่า จะขอนัดตรวจสายตาเฉย ๆ หรือจะตรวจและทำในวันนั้นเลย ไอซ์เลือกอย่างหลัง เพราะใช้แว่นเดิมได้หลายปีไม่มีปัญหา และไม่เป็นโรคเลย มั่นใจว่าต้องทำได้แน่ ๆ

วันที่ที่นัดไปทำนั้นคือ 19 กุมภาพันธ์ปีนี้

ก่อนวันนัด 1 วัน มีเจ้าหน้าที่โทรมาคอนเฟิร์มนัด ย้ำเรื่องเวลา และการเตรียมตัวก่อนไปทำ การเตรียมตัวนั้น สรุปได้ว่า

  1. ให้ล้างหน้า และสระผมให้เรียบร้อย
  2. งดแต่งหน้า ฉีดสเปรย์ และน้ำหอม
  3. งดดื่มแอลกอฮอล์ (มีผลต่อการควบคุมตาตอนทำ)

เสริมให้อีกข้อ สำหรับคนที่ใส่คอนแทคเลนส์อยู่ ควรงดใส่ 7 วัน ให้ใส่แว่นตาแทนก่อนจนถึงเวลาทำเลสิค

https://images.unsplash.com/photo-1556306510-31ca015374b0?ixlib=rb-4.0.3&q=85&fm=jpg&crop=entropy&cs=srgb

ตรวจตาก่อนทำเลสิค

และแล้ว วันนี้ก็มาถึง ไอซ์ไปศูนย์เลสิคตามเวลาที่นัดไว้คือ 7 โมงเช้า พาญาติคนนึงไปด้วย เพราะถ้าทำเลสิคเสร็จ เราจะกลับบ้านเองไม่ได้ ต้องให้คนช่วยหิ้วกลับบ้าน ศูนย์เลสิคจะอยู่ในโรงพยาบาลตึกที่ 2 ชั้น 4 พื้นที่ในศูนย์ไม่กว้างมาก แต่มีคนนั่งรอทำเยอะมาก ๆ เต็มศูนย์เลย

ไอซ์มาถึงก็ให้บัตรประชาชนกับเจ้าหน้าที่ เขาก็ให้ไอซ์นั่งรอตรวจ การตรวจตาเพื่อทำเลสิค เจ้าหน้าที่บอกว่าจะมี 7 ขั้นตอนด้วยกัน

ขั้นตอนแรก เจ้าหน้าที่จะวัดน้ำหนัก ส่วนสูง ความดัน และซักประวัติของเรา ว่าเราเริ่มใส่แว่นเมื่อไหร่ ได้ใส่คอนเทคเลนส์ไหม แว่นล่าสุดที่เราใส่อยู่ ใส่มากี่ปีแล้ว และก็เคยประสบอุบัติเหตุกับตามาก่อนไหม ไอซ์ตอบของตัวเองเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ถามอีกว่า เห็นว่าเราพูดไม่ชัด อยากทราบว่าเป็นโรคอะไรไหม ไอซ์ก็บอกตามตรง ว่าไอซ์เป็น Cerebral Palsy มาตั้งแต่เกิด ทำให้มีปัญหาการใช้กล้ามเนื้อซีกซ้ายทั้งร่างกาย บอกแล้วดูเหมือนเจ้าหน้าที่จะงงนิดนึง ก็เลย Search Google ให้ดู

สำหรับคนที่ไม่รู้จัก ไอซ์ขออธิบายเกี่ยวกับโรคนี้นิดนึงเพื่อให้ไม่งงกัน

Cerebral Palsy เป็นโรคที่เกิดจากมีอะไรบางอย่างกระทบกับสมองที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ (ก็คือเกิดตอนที่ยังเป็นตัวอ่อน หรือเป็นเด็กทารกที่เพิ่งคลอด) ทำให้สมองบางส่วนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งส่วนมากเกิดกับสมองส่วนควบคุมเคลื่อนไหวและท่าทาง ทำให้คนที่เป็นภาวะนี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ปกติ แต่ก็มีบางรายที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ และสติปัญญาด้วย ขึ้นอยู่กับว่า อาการบาดเจ็บที่เกิดนั้นรุนแรงและกระทบต่อสมองแค่ไหน

ไอซ์นึกไม่ถึงว่า จะมีถามอาการผิดปกติแบบนี้ (เจ้าหน้าที่ช่างสังเกตดีมากๆ) แล้วก็นึกได้ว่า ภาวะที่ตัวเองเป็น ทำให้ไม่สามารถเบิกตาข้างซ้ายไม่ให้กระพริบตาค้างได้นาน ๆ ก็เริ่มกลัวว่าจะไม่ได้ทำเลสิคเพราะอย่างนี้ ถึงอย่างนั้น ก็ต้องบอกให้คุณหมอรู้ ไอซ์ก็จำใจบอกความจริงข้อนี้ด้วย เจ้าหน้าที่ก็จดๆๆๆ

จุดนี้สำคัญ ใครที่เป็นอะไรอยู่แล้วไม่แน่ใจว่าเกี่ยวไหมก็ต้องถามเลย เพราะทำไปแล้ว ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับตาเรา จะกลับมาแก้ยากมาก

มาถึงขั้นตอนต่อไป จะเป็นการวัดค่าสายตา

ขั้นตอนนี้จะเหมือนที่เราไปวัดที่ตามร้านขายแว่นตาทั่วไปเลย ก็คือจะมีเครื่อง Auto Refractometer แบบที่อยู่ด้านขวาของรูปนี้ (เครื่องด้านซ้ายคุณหมอจะเป็นคนใช้ในตอนสุดท้าย เรียกว่า Slit Lamp)

https://images.unsplash.com/photo-1565428744974-f41cf79c05fa?ixlib=rb-4.0.3&q=85&fm=jpg&crop=entropy&cs=srgb

เจ้าหน้าที่จะพาไปนั่งหน้าเครื่องนี้ และให้เราวางคางเอาหน้าผากชิดกับแท่นวางคางที่อยู่หน้าเครื่อง เพื่อให้ตาเราอยู่ตรงกับช่องส่อง เครื่องจะปรับให้เราเห็นรูปภาพ เป็นรูปบอลลูนที่อยู่ตรงกลางระหว่างสนามหญ้าเขียวขจีและท้องฟ้าสีสดใส เมื่อตรวจเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ให้เราตรวจเครื่องข้าง ๆ รูปทรงเครื่องจะคล้ายๆ กันเลย ไม่แน่ใจว่าเป็นเครื่องตรวจอะไร (ลืมถาม)

จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็พาเรานั่งข้างนอกห้อง และเอายาหยอดขยายม่านตามาบีบใส่ตาเรา และให้นั่งรอยาออกฤทธิ์ประมาณ 20-30 นาที (ออกไปกินข้าวเช้าได้นะ) ตอนแรก ๆ จะรู้สึกแสบตามาก แต่ผ่านไปไม่กี่นาที ความแสบก็ค่อย ๆ ลดลง แต่ตาจะพร่ามากขึ้น เพราะเมื่อม่านตาขยายจะรับแสงได้มาก ถึงตอนนี้ภาพที่เห็นมันจะเจิดจ้าไปหมดเลย

เมื่อยาออกฤทธิ์แล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะพาเราไปห้องมืดๆ มีเครื่องตั้งอยู่ 2 เครื่องข้างกัน เครื่องแรกจะเป็นแท่นที่มีจานกลม ๆ มีช่องเปิดตรงกลางอยู่ด้านบน ใช้ตรวจสภาพกระจกตา ไอซ์วางคางและเอาหน้าผากชิดที่แท่นวางหน้าเครื่องเหมือนเดิม เมื่อเริ่มตรวจ จานจะหมุน ๆ ตรงนี้ให้จ้องแสงสีฟ้าในช่องที่อยู่ตรงกลางจานนิ่ง ๆ ถือว่าเป็นเครื่องที่ตรวจค่อนข้างยาก เพราะตอนตรวจห้ามขยับตาแม้แต่นิดเดียว เสร็จแล้วก็จะต้องนั่งตรวจอีกเครื่อง เป็นเครื่องที่มีแท่งเล็ก ๆ ยื่นออกมา ใช้ตรวจความดันลูกตา เจ้าหน้าที่จะให้สัญญาณให้ทำตานิ่ง ๆ เวลาตรวจมีลมเป่าเบา ๆ ใส่ตาออกมา

ตรงนี้ไอซ์ใช้เวลาตรวจนานมาก เพราะไอซ์ไม่สามารถทำตาซ้ายให้นิ่ง ๆ ได้ ด้วยภาวะอย่างที่บอกไปแล้วในขั้นตอนแรก เจ้าหน้าที่จะต้องเอาอุปกรณ์มาช่วยกดเปลือกตาไม่ให้กระพริบหนี แต่กว่าจะกดเปลือกตาจนตรวจได้ก็นานอยู่ เพราะเหมือนเปลือกตาไอซ์ชอบขยับหนีตลอดเลย แอบเกรงใจเจ้าหน้าที่เหมือนกัน

หลังขั้นตอนนี้ ไอซ์ก็หวั่นใจ ถึงผลตรวจจะไม่มีปัญหา แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องกระพริบตาอย่างนี้ จะได้ทำ LASIK ไหมเนี่ย?

หลังจากนั้นก็ตรวจสายตาอีกรอบ คราวนี้จะเป็นการตรวจระดับการมองเห็นหรือ Visual acuity test เป็นการวัดโดยให้เรามองที่แผ่นป้ายที่มีตัวเลขเรียงจากใหญ่ไปเล็กลงมาด้วยตาเปล่า 2 ข้าง มองโดยปิดตาซ้าย 1 ครั้ง และมองโดยปิดตาขวา 1 ครั้ง แต่ละครั้งบอกเจ้าหน้าที่ให้ฟังว่า เรามองเห็นเลขตัวไหนบ้าง

https://images.unsplash.com/photo-1517948430535-1e2469d314fe?ixlib=rb-4.0.3&q=85&fm=jpg&crop=entropy&cs=srgb

สุดท้าย ไอซ์ก็ได้พบกับคุณหมอ คุณหมอจะใช้กล้องส่องตาที่เรียกว่า Slit Lamp อีกครั้งเพื่อตรวจสภาพตาอย่างละเอียด และอ่านผลที่ได้จากการตรวจที่ทำทั้งหมด ก็ปรากฎว่า ตาของไอซ์ทำเลสิคได้!

สายตาของไอซ์วัดได้ทั้งสองข้างมีค่าสายตาสั้นประมาณ 750 เอียง 300 ความหนาอยู่ที่ประมาณ 540 ไมครอน (ความหนาอย่างต่ำที่ทำเลสิคได้คือ 200 ไมครอน) สำหรับปัญหากะพริบตานั้น คุณหมอให้เจ้าหน้าที่พาเราไปห้องหนึ่งที่มีเตียงชิดกำแพงเพื่อจำลองการทำเลสิค เจ้าหน้าที่ก็อธิบายขั้นตอนละเอียดเลยว่า เลสิคทำอะไรกับตาเรา จากนั้นใช้นิ้วชี้จำลองเป็นแสงเลเซอร์ชี้ไปที่ตาไอซ์ และให้ซ้อมทำตาค้าง 15 วินาที เมื่อไอซ์ทำเสร็จ เจ้าหน้าที่ก็เห็นว่าไอซ์ทำได้ ก็ให้รอเข้ารับผ่าตัดตอนบ่ายได้เลย

เย้! ได้ทำซะที!

เจ้าหน้าที่หยอดยาให้รูม่านตาหดเหมือนเดิม และบอกให้มาพบกันอีกครั้งตอนเวลา 11:00 น.

หลังจากทำอะไรต่าง ๆ นา ๆ เสร็จ ก็ไปจ่ายเงินและเอายาที่แผนกยา สิ่งที่ได้รับคือ

  • ยาหยอดตาแก้อักเสบยี่ห้อ Alcon TobraDex
  • น้ำตาเทียมยี่ห้อ Vislube 1 กล่อง ในกล่องมี 20 หลอด
  • เทป เอาไว้ติดที่ครอบตา
  • น้ำเกลือ 1 ขวด
  • ถุงก้อนสำลี 2 ห่อ
  • ยานอนหลับ 5 เม็ด
  • ยาพาราเซตามอล เผื่อปวดตา

ราคา

ราคาที่จ่ายไปอยู่ที่ 38,000 บาท ราคานี้จะรวมทุกอย่าง ทั้งค่าตรวจ ค่ายา และค่าผ่าตัด ไอซ์จ่ายด้วย QR Code Payment ได้ลด 1,000 บาท เหลือ 37,000 บาท

ระหว่างการทำเลสิค

ในเวลา 11:00 น. ไอซ์มาที่ศูนย์เลสิคอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ก็ให้เซ็นเอกสารยินยอมเข้ารับผ่าตัด จากนั้นก็พาไปใส่ชุดคลุมสีเขียว (ไม่ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ใส่ทับไปเลย) ล้างหน้า ใส่หมวกคลุมเก็บผม แล้วก็ให้นั่งรอคิวร่วมกับคนอื่น ๆ ระหว่างรอก็มีเจ้าหน้าที่คอยหยอดยาชา และยาฆ่าเชื้อใส่ตาทั้งสองข้างของทุกคน

เป็นเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ไอซ์ก็ได้เข้าห้องผ่าตัด เอาจริง ๆ ก็เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นลุ้นระทึกดีเหมือนกัน

คุณพยาบาลให้ไอซ์นั่งรถเข็น และเข็นพาไปยังห้องผ่าตัด ห้องที่ใช้ทำเลสิคเนี่ย จะคล้ายกับห้องผ่าตัดปกติ คือ มีเตียงเขียว ๆ อยู่ตรงกลางห้อง แต่แทนที่จะมีโต๊ะวางพวกมีดผ่าตัดข้าง ๆ ก็มีเครื่องทำเลสิคอยู่แทน และที่ตัวเครื่องมีจานฉายแสงอยู่เหนือหัวเตียง

ไอซ์นอนบนเตียงนั้น มีคุณพยาบาลช่วยห่มผ้าคลุมตัว และปิดหน้าด้วยผ้าคลุมให้ (เว้นตรงตา) จากนั้นคุณหมอก็เลื่อนเครื่องทำเลสิคให้ไปอยู่ตรงหน้า

คุณหมอเริ่มทำที่ตาข้างซ้าย

ตอนที่ทำ ตาข้างที่จะทำ คุณหมอช่วยใส่อุปกรณ์ตรึงป้องกันไม่ให้ตากระพริบ (มันช่วยได้เยอะเลย เราไม่ต้องห่วงว่าจะเผลอกระพริบตาอีก แต่ยังกรอกตาได้นะ ตอนที่ทำ เราต้องทำตาแข็ง ๆ อยู่) ส่วนตาอีกข้างจะถูกคลุมไม่ให้โดนแสงเลเซอร์ คุณหมอบอกให้เราจ้องจุดสีแดงเอาไว้นิ่ง ๆ ก่อนที่ยิงเลเซอร์เพื่อเปิดกระจกตา ตอนยิงรู้สึกเหมือนมีอะไรพุ่งออกมาเป็นน้ำ มันเร็วมาก ตอนนั้นไม่ทันตั้งตัว ก็ตกใจจนเผลอสะดุ้ง ตัวขยับนิดนึง พอรู้ตัวว่าเผลอขยับก็อุทานในใจ ตายแล้ววว

คุณหมอเห็นเหมือนกัน แต่ก็บอกว่าไม่เป็นไร ตาไม่ได้บาดเจ็บ และกระจกตาก็เปิดได้แล้ว คุณหมอก็ให้เวลาไอซ์ทำใจเย็นแปปนึงก่อนที่จะยิงเลเซอร์ต่อเพื่อปรับแต่งเลนส์ตา ตอนที่ยิงไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ภาพที่มองเห็นจะค่อย ๆ พร่าเลือน ไอซ์ก็ต้องจ้องจุดสีแดงต่อไปไม่ขยับไปไหน จนเสียงเลเซอร์เงียบลง

เสร็จไปข้างนึงแล้ว เย้

คุณพยาบาลบอกว่า การขยับตัวแบบเมื่อกี้มันอันตราย เดี๋ยวจะช่วยกดตัวไว้ไม่ให้ขยับตัวอีก ว่าแล้วคุณพยาบาลก็ช่วยกันกดตัวไอซ์อยู่ที่เตียง และคุณหมอก็ทำที่ตาข้างขวาต่อ

เสร็จแล้ว ก็ได้ถอดอุปกรณ์ช่วยตรึงตา และเอาผ้าคลุมออก ตอนนั้นรู้สึกโล่งอกมาก ทันทีที่เอาทุกอย่างออก ก็รู้สึกว่าโลกที่มองเห็นไม่มัวอีกต่อไป ไอซ์เห็นหน้าคุณหมอและคุณพยาบาลละเอียดมาก ๆ จากที่ก่อนเข้าห้องยังไม่ค่อยเห็นอะไรเลย ถึงอย่างนั้น ภาพก็ดูยังมืด ๆ อยู่ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะตาไม่ชินแสงหรือเปล่านะ? แต่ก็ช่างมัน คงต้องรอสักพักอะนะ คุณพยาบาลก็พาไอซ์นั่งรถเข็นออกจากห้อง ให้กินยาพาราเซตามอล 2 เม็ด จากนั้นครอบตาทั้งสองข้างไว้ด้วยอะไรบางอย่างใส ๆ และมีรูรอบ ๆ เรียกว่า ที่ครอบตา หรือ Eye shield และเทปพาดที่ครอบตาเพื่อให้มันติดที่หน้า

ประมาณนี้เลย

เหมือนติดตาแมวใส ๆ ทับตาทั้งสองข้าง มีเทปพาดเฉียง ๆ จากบนลงล่าง ปิดเทปข้างบนอีกเพื่อความแน่น

รู้สึกแปลกๆแฮะ

ส่วนรูปข้างล่างนี่คือ ที่ครอบตา กับ เทปกาว

หลังการทำเลสิค

กลับถึงบ้านเวลาประมาณ 13.30 น. ไอซ์มองไม่ค่อยเห็น เปลือกตาก็หนัก ตาจะปิดตลอด ปวดหัวด้วย ทำอะไรได้ไม่มาก สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ นอน ไอซ์กินยานอนหลับ 1 เม็ด จากนั้นก็ล้มตึงสลบอยู่ที่เตียง

แต่นอนได้ไม่เท่าไหร่ก็ต้องตื่นขึ้น พร้อมกับความรู้สึกเหมือนมีฝุ่นเข้าตาตลอด นี่คืออาการตอนยาหมดฤทธิ์ รู้สึกคันตายิบ ๆ แสบตามาก น้ำตาก็ไหลพรวด ๆ แต่ก็ทำอะไรไม่มาก เพราะคุณหมอห้ามไม่ให้เราเปิดที่ครอบและเอามือขยี้ตา ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ตอนนี้ก็คือ นอน ไอซ์ก็พยายามข่มตานอนต่อไป สุดท้ายก็หลับตอนไหนไม่รู้

จำได้ว่าตื่นขึ้นมาประมาณสองทุ่ม อาการคันตายิบ ๆ ยับ ๆ หายไปแล้ว สิ่งที่มาแทนที่ก็คือความหิว สิ่งที่ไอซ์ทำต่อคือแกะที่ครอบตาออก หยอดยาแก้อักเสบ และหยอดน้ำตาเทียม และใส่ที่ครอบตาอีกรอบ กินยาแก้ปวด จากนั้นก็ไปกินข้าวตามปกติ

หลังทำเลสิค 1 สัปดาห์ เราจะไม่สามารถล้างหน้า ล้างตา และสระผมได้เลยเพราะว่าตาสองข้างตอนนี้มีแผล ถ้าโดนน้ำจะมีอาการติดเชื้อได้ง่าย เท่ากับว่าเวลาอาบน้ำเราจะล้างตัวได้เท่านั้น คำถามคือ แล้วเราจะทำความสะอาดตา หน้าและผมยังไง หรือจะต้องปล่อยเกรอะกรัง เป็นสังกะตัง…ไม่ถึงขนาดนั้น คำตอบมีอยู่ในใบบอกการดูแลรักษาซึ่งได้รับตอนจ่ายยา (จะสรุปในหัวข้อถัดไป)

เสร็จแล้วก็…นอน

วันรุ่งขึ้น ไอซ์ถอดที่ครอบตาออก เพราะผ่านไป 1 วันแล้วไม่จำเป็นต้องใส่ที่ครอบตาตลอด สิ่งที่ไอซ์ต้องทำวันนี้คือไปหาหมอเพื่อให้หมอตรวจดูสภาพตาหลังทำเลสิค ไอซ์ทำตามที่หมอสั่ง ใส่แว่นกันแดดไป พกที่ครอบตาทั้งสองข้าง และน้ำตาเทียมไปด้วย

การหาหมอครั้งนี้ ทำปุ๊ปเดียวเสร็จ สรุปว่า การทำเลสิคของไอซ์ไปได้ด้วยดีจ้า

การดูแลตา

ตอนที่ไปเอายา เราจะได้รับกระดาษสีเขียวใบหนึ่งเป็นแผ่นยาว เป็นคำแนะนำการดูแลตา และทำความสะอาดตาหลังทำเลสิค ทุกคนสามารถทำตามนี้ได้เลย แต่เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ไอซ์จะเพิ่มข้อมูลมาจากที่ Research เพิ่มเติม คำแนะนำจากคุณหมอ และเจ้าหน้าที่พยาบาล รวมถึงประสบการณ์ของตัวเองไปด้วยในส่วนนี้

ช่วงสัปดาห์แรก เป็นช่วงที่ตาของเรายังอ่อนแอมาก เราจะต้องปกป้องและถนอมดวงตามากกว่าที่เคยเป็นมา การดูแลสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ตามนี้

  • หยอดยาแก้อักเสบใส่ตาทั้งสองข้างทั้งตอนเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน
  • ในระหว่างวัน ให้หยอดน้ำตาเทียมบ่อย ๆ อย่าปล่อยให้ตาแห้งมาก ๆ แผลจะสมานช้านะ
  • ห้ามให้มีอะไรเข้าตา น้ำ ฝุ่น ควัน เหงื่อ แสงแดดก็เข้าตาไม่ได้เลย
  • ห้ามขยี้ตา เวลานอนก็ต้องติดที่ครอบตานอนด้วย ป้องกันการขยี้ตาโดยไม่รู้ตัว
  • เวลาออกข้างนอก จะต้องใส่แว่นกันแดด (ในใบเขียวบอกว่าให้ใส่ 1 เดือนเลย)
  • ลดการใช้สายตาหนัก ๆ ยาว ๆ ถ้าจำเป็นต้องใช้สายตาตลอด ให้พักสายตาเป็นพัก ๆโดยเฉพาะตอนเล่นมือถือ และทำงานกับคอมพิวเตอร์
  • สำหรับ Developer ที่ต้องเขียนโค้ดทั้งวัน แว่นกันแสงสีฟ้าก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ (คราวนี้ใช้แว่นที่ไม่มีค่าสายตา ราคาก็จะถูกลงไปเยอะ)

อีกทั้ง เราต้องเปลี่ยนวิธีอาบน้ำ

  • หลีกเลี่ยงการยืนสระผมเอง เพราะน้ำและแชมพูจะเข้าตา เวลาสระผมเราจะต้องนอนแนวราบและให้คนช่วยสระให้ หรือไม่ก็ไปสระผมที่ร้านตัดผมเลย และให้หาผ้าและพลาสติกมาคลุมปิดตาด้วย
  • การทำความสะอาดหน้า เราจะต้องใช้ผ้าชุบน้ำ หรือทิชชู่เปียกเช็ดหน้าแทนๆ
  • การเช็คตาให้ใช้สำลีชุบน้ำเกลือเช็ด โดยการเช็ดตา 1 ข้างให้หยิบสำลี 1 ก้อนพับมุม 4 มุม แต่ละมุมเช็คขอบตาตำแหน่งต่างกันไป คือ มุมหนึ่งเช็คขอบตาล่าง มุมหนึ่งเช็ดขอบตาบน มุมหนึ่งเช็ดที่หัวตา และอีกมุมหนึ่งเช็ดที่หางตา (วิธีเช็ดแบบละเอียดสามารถดูในใบเขียวได้เลย)
  • ส่วนลำตัวก็อาบตามปกติ เพียงแค่ต้องระวังไม่ให้น้ำและสบู่กระเด็นเข้าตา

หลังจากนี้ เราสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ที่ยังต้องทำอยู่มีแค่

หยอดน้ำตาเทียมบ่อย ๆ

การทำเลสิคทำให้กระจกตาบางลง ตาจะสูญเสียน้ำได้ง่ายกว่าปกติ หมายความว่าตาจะแห้งแบบถี่ ๆ คันตาไม่พัก

นอกจากคันตา อาการที่ไอซ์เจอคือ ภาพที่มองเห็นจะเบลอสลับกลับมาชัด ตัวอักษรทุกตัวที่เห็นทั้งในกระดาษ หนังสือ รวมถึงในจอคอมพิวเตอร์แตก และมีขอบฟุ้ง นี่คืออาการที่เกิดจากตาแห้งทั้งสิ้น

https://images.unsplash.com/photo-1575089976121-8ed7b2a54265?ixlib=rb-4.0.3&q=85&fm=jpg&crop=entropy&cs=srgb

แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นตลอดไป เท่าที่ Research ข้อมูลมา หลายคนจะเป็นอย่างนี้ประมาณ 6 เดือนจนถึง 1 ปี (แล้วแต่คน) คุณหมอเองก็บอกว่า ตาเราจะปรับตัวเอง เดี๋ยวมันก็ดีขึ้น

การทำให้อาการดีขึ้น เราจะต้องหยอดน้ำตาเทียมบ่อย ๆ (ตอนที่ไอซ์เขียนก็ยังต้องหยอดบ่อย ๆ เลย) ยี่ห้อที่ไอซ์ใช้เป็นประจำก็ใช้ตามที่โรงพยาบาลให้เลย คือ Vislube

Vislube เป็นน้ำตาเทียมที่มีความหนึบ ช่วยรักษาความชุ่มชื้นและรักษาแผลที่ตา เหมาะกับคนที่เพิ่งผ่าตัดตามาใหม่ ๆ หยอดไปแล้วตาจะพร่าไปแปปนึง ไม่เกิน 5 วินาที แต่ใช้แล้วสบายตามากๆ

ตอนที่ได้มาจากโรงพยาบาล เราจะได้รับ 1 กล่อง กล่องหนึ่งมี 20 กระบอก กระบอกหนึ่งใช้ได้มากสุด 4 ครั้ง (ภายในหนึ่งวัน) ไอซ์จำได้ว่าวันแรก ๆ ตัวเองใช้เปลืองมาก กล่องนี้หมดภายใน 6 วัน ต้องหาซื้อเพื่ม ยี่ห้อนี้มีขายตามร้านขายยาทั่วไปเลย แต่ราคาจะแพง ราคาประมาณ 400-500 กว่าบาท ถ้าซื้อตามร้านขายส่งจะถูกลงหน่อย ที่ไอซ์ซื้อประจำ คือ ร้าน Pharmax มีขาย ราคาจะประมาณ 300 กว่าบาท

ถึงมันจะแพงจนทำให้กระเป๋าตังฟีบได้ แต่ก็ยังใช้เพราะไอซ์ยังมีอาการตาแห้งมากอยู่ อาจจะเป็นเพราะไอซ์ใช้สายตาเยอะ ไม่ค่อยได้พัก น้ำตาเทียมยี่ห้อนี้ช่วยได้เยอะมาก

ถ้าใครอยากเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้อที่ราคาถูกลง ตอนนี้เห็นที่นิยมใช้มี 2 ยี่ห้อ คือ Alcon และ Cellufresh แต่พวกนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่ออาการตาแห้งดีขึ้นจนไม่ต้องหยอดตาแบบถี่ ๆ แล้ว แนะนำให้ปรึกษากับคุณหมอก่อนนะ

นอกจากหยอดน้ำตาเทียมบ่อย ๆ แล้วเรายังต้องทำ 3 อย่างคือ ไม่ขยี้ตา พักสายตาบ่อย ๆ และกินอาหารบำรุงสายตา เน้นวิตามินเอเยอะๆ นั่นเอง

การนัดตรวจ

หลังจากทำเลสิค คุณหมอจะนัดตรวจตาเป็นระยะ ๆ คือ 1 วัน 1 สัปดาห์ 1 เดือน และครั้งสุดท้ายก็ 6 เดือน แต่ละครั้งจะมีการวัดค่าสายตาโดยให้มองบอลลูน และอ่านแผนกระดานที่มีตัวเลขขนาดเรียงจากใหญ่ลงมาเล็ก จากนั้นคุณหมอส่องตาดูว่าสภาพตาของเราเป็นอย่างไร

ครั้งสุดท้าย ถ้าไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพิ่มเติม เราก็จะได้รับผลตรวจจริง ๆ แบบนี้

หลังจากที่ทำจนถึงตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

หลังจากที่ทำเลสิกเสร็จ แว่นของไอซ์ก็ใช้ไม่ได้อีก เพราะค่าสายตาของไอซ์เปลี่ยนไปแล้ว จาก 750 เอียง 300 เหลือ 0 ทั้งสองข้าง (ลาก่อนนะน้องแว่น) ตอนนี้ (ตอนที่เขียนอยู่) ก็ผ่านไป 7 เดือนแล้ว ค่าสายตาก็ยังเป็น 0 สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องมีแว่นตา แต่ถ้าใช้คอมพิวเตอร์ หรือมือถือ ไอซ์ก็จะใส่แว่นที่ป้องกันแสงสีฟ้าเสมอเพื่อถนอมตาตัวเอง

สำหรับ Side Effect อย่างอาการตาแห้ง ตอนนี้ยังเป็นอยู่ แต่ก็ดีขึ้นจากตอนแรกที่ต้องใช้น้ำตาเทียม 4-5 กระบอก เหลือในหนึ่งวันใช้ 1-2 กระบอกก็พอเพียง จะเป็นมากเฉพาะวันที่ใช้สายตาไม่พัก (เป็น Developer ก็ต้องเขียนโค้ดทั้งวันอะเนอะ เพลินจนห้ามใจ แหะ ๆ) อยู่ห้องแอร์เย็นฉ่ำๆ

ส่วนอาการอย่างอื่นที่เห็นเป็นกันหลายคน อย่างเช่น ภาวะแสงกระจายในเวลากลางคืน 🔗 ช่วงแรกหลังจากที่ทำเป็นหนักมาก ไอซ์ได้เห็นแสงไฟทุกดวงเป็นดาวประกายวิบวับหมดเลย บางทีก็เจิดจ้าเหมือนไฟลุก บางทีก็เห็นกระจายเป็นวง ๆ มีขอบในเวลาที่ตาแห้ง (อันนี้เรียกว่า Halo) แต่ตอนนี้ไม่เป็นแล้ว เห็นไฟส่องได้ปกติ หายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้

ตอนนี้ใช้ชีวิตมีความสุขมาก ไปไหนมาไหนไม่ต้องมีแว่นตามาคอยกวนใจ เดินได้คล่องแคล่วมากกว่าแต่ก่อน

เครดิต & References

ต้องขอบคุณคุณหมอ ไอซ์ ชญานี 🔗 ที่ทำให้โลกของไอซ์ชัดเจนมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งแว่นสายตาอีกต่อไป รวมถึงเจ้าหน้าที่พยาบาลโรงพยาบาลลาดพร้าวที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้วยนะคะ

ข้อมูลต่าง ๆ ที่เขียนทั้งหมดส่วนมากมาจากประสบการณ์ของไอซ์ ข้อมูลได้จากคุณหมอ เจ้าหน้าที่พยาบาล ส่วนน้อยได้จากบทความต่าง ๆ มีบางส่วนมาจากที่อ่านเจอในกระทู้พันทิปบ้าง

ข้างล่างคือลิงก์บทความที่ไอซ์นำข้อมูลมาประกอบในนี้

ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านด้วยนะคะ😄❤️