แนะนำ SchemaSpy เครื่องมือทำเอกสาร Database

Icegotcha's avatar
แนะนำ SchemaSpy เครื่องมือทำเอกสาร Database

Contents

Introduction

ถ้าระบบของเรามีฐานข้อมูลที่เป็น Rational Database การทำเอกสารเกี่ยวกับมันเป็นงานที่สำคัญ เพราะจะทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้าใจการเก็บข้อมูลในระบบของเรามากขึ้น แต่ด้วยความซับซ้อนของมัน งานนี้จึงเป็นงานที่ใช้เวลาทำนานและค่อนข้างน่าเบื่อ ในปัจจุบัน มีเครื่องมือช่วยสร้างเอกสารให้เรามากมาย มีทั้งฟรีและไม่ฟรี ในบทความนี้ ผู้เขียนจะแนะนำให้คุณผู้อ่านรู้จักกับเครื่องมือตัวหนึ่ง ที่มีขนาดเล็ก ใช้งานง่าย เก็บข้อมูลได้ครบ ที่สำคัญคือ ฟรี! เครื่องมือตัวนี้มีชื่อว่า SchemaSpy

SchemaSpy คืออะไร?

SchemaSpy เป็นโปรแกรมประเภท Command Line เขียนด้วยภาษา Java มันจะช่วยวิเคราะห์ เก็บข้อมูลของฐานข้อมูลของเรา และสร้างเอกสารออกมาเป็นเว็บที่สวยงาม ภายในเอกสารนอกจากจะมีข้อมูลเกี่ยวกับตารางและส่วนอื่น ๆ ที่จำเป็นแล้ว ยังมีแผนภาพ ER Diagram ให้เราอีกด้วย

รูปแสดงตัวอย่างเอกสารที่สร้างขึ้นจาก SchemaSpy

รูปภาพที่แสดงอยู่นี้คือตัวอย่างเอกสาร Database ที่ SchemaSpy สร้างขึ้น สามารถดูได้ที่ http://schemaspy.org/sample/index.html 🔗

ก่อนที่จะใช้งาน SchemaSpy

ติดตั้ง JRE ลงเครื่อง

ก่อนที่จะใช้งาน SchemaSpy จะต้องมี JRE (Java Runtime Environment) เวอร์ชัน 8 หรือมากกว่าในเครื่องคอมของเราก่อน ถ้ายังไม่มีก็สามารถดาวน์โหลไฟล์ติดตั้งได้ที่เว็บ java.net 🔗 แลัวติดตั้งลงเครื่องให้เรียบร้อย

รูปเว็บไซต์ java.net

ถ้าคุณผู้อ่านใช้ Ubuntu ปกติมันจะมี JRE 8 อยู่ในเครื่องอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มี หรือต้องการติดตั้งเวอร์ชันอื่นเพิ่มก็สามารถดูและทำตามบทความของ DigitalOcean 🔗 ได้เลย

ดาวน์โหลด JDBC Driver

เมื่อมี JRE ในเครื่องแล้วก็ให้ดาวน์โหลด JDBC Driver หรือ Connector/J ตามชนิดหรือยี่ห้อของ Database ที่ใช้งานอยู่ ตัวนี้จะทำหน้าที่เชื่อมต่อ Database เข้ากับโปรแกรมที่เขียนด้วย Java อย่าง SchemaSpy ในที่นี้จะแสดงวิธีการดาวน์โหลด JDBC Driver ของฐานข้อมูลที่เรานิยมใช้กัน ได้แก่ MySQL, MariaDB, Postgresql และ Microsoft SQL Server (ขอย่อว่า MSSQL)

MySQL

เข้าไปที่เว็บ URL https://dev.mysql.com/downloads/connector/j/ 🔗 เลือก “Platform Independent” ที่ Select Operating System รอสักครู่ มันจะ Render รายการไฟล์แสดงบนเว็บ เมื่อมีรายการออกมาแล้ว ให้คลิกปุ่ม Download ที่อยู่แถว ZIP Archive เราจะได้ไฟล์ zip ไฟล์หนึ่ง

รูปหน้าจอดาวน์โหลดของเว็บไซต์ MySQL เมื่อเลือก "Platform Independent" จะแสดงรายการไฟล์ขึ้นมา 2 รายการ คือ ไฟล์รูปแบบ .tar.gz และ .zip

ภายในมีไฟล์ JAR ที่ชื่อว่า mysql-connector-java-[version] ให้เก็บไฟล์นี้ไว้

รูปแสดงภายในไฟล์ zip จะมีไฟล์ที่ชื่อ mysql-connector-java ตามด้วย version ของไฟล์ ลงท้ายด้วย .jar

MariaDB

เข้าไปที่เว็บ URL https://downloads.mariadb.org/connector-java/ 🔗 คลิกปุ่ม Download Now! ที่เวอร์ชันล่าสุด

รูปหน้าเว็บไซต์ MariaDB จะมีกรอบแสดง Version เป็น Series ให้เลือกดาวน์โหลด

เลือกแหล่งดาวน์โหลดที่ Mirror และคลิกที่ลิงก์ในช่อง File name แถวที่ Package Type เป็น Jar

รูปหน้าจอดาวน์โหลดไฟล์ Connector/J ของเว็บไซต์ MariaDB มีตารางแสดงรายการไฟล์ที่ดาวน์โหลดได้อยู่ด้านซ้าย ซึ่งจะเป็นไฟล์ JAR ที่มีซอร์สโค้ด แลพที่ไม่มีซอร์สโค้ด  และกรอบแสดงแหล่งดาวน์โหลด (Mirror) อยู่ด้านขวา

คลิกที่ mariadb-java-client-[version].jar

รูปหน้าจอรายการไฟล์ Connector/J เป็นไฟล์ JAR ที่ไม่มีซอร์สโค้ดของเว็บไซต์ MariaDB เราต้องเลือกไฟล์ที่ชื่อ mariadb-java-client ตามด้วยเวอร์ชัน และลงท้ายด้วย .jar

เราจะได้ JDBC Driver ของ MariaDB เป็นไฟล์ JAR ในเครื่อง

Postgresql

เข้าไปที่เว็บ URL https://jdbc.postgresql.org/download.html 🔗 ให้คลิกดาวน์โหลดที่ลิงก์ในส่วนของ Current Version (เวอร์ชันล่าสุด) หรือ Other Versions แล้วเราจะได้ไฟล์ JAR มาหนึ่งไฟล์

รูปเว็บไซต์ดาวน์โหลด JDBC ของ Postgresql

Mssql

เข้าไปที่เว็บ URL https://docs.microsoft.com/en-us/sql/connect/jdbc/download-microsoft-jdbc-driver-for-sql-server 🔗 จากนั้นคลิกที่ Download Microsoft JDBC Driver [version] for SQL Server (zip) เราจะได้ไฟล์ zip ให้คลาย zip ออกมา ภายในจะมีไฟล์ JAR อยู่หลายไฟล์ แต่ละไฟล์มีชื่อลงท้ายด้วยเวอร์ชันของ JRE ให้เก็บไฟล์ที่มีชื่อเวอร์ชัน JRE ตรงกับเวอร์ชันที่เราลงในเครื่อง

รูปแสดงไฟล์ Connector/J ของ MSSQL ในที่นี้มีไฟล์ JAR 3 ไฟล์ แต่ละไฟล์จะมีชื่อลงท้ายด้วย JRE คือ .jre8, .jre11 และ .jre15

ติดตั้ง GraphViz

GraphViz เป็น Package หนึ่งที่ช่วยวาดแผนภาพที่มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายและ Graph เช่น Flow Chart, Data Model เป็นต้น SchemaSpy ใช้ตัวนี้ในการวาด ER Diagram เราจึงจำเป็นต้องติดตั้งมันลงในเครื่องด้วย การติดตั้งสามารถดูได้ที่เว็บไซต์ของ GraphViz 🔗

สำหรับการติดตั้งใน Windows วิธีการที่ง่ายที่สุดคือ ติดตั้งผ่าน Chocolatey หรือ WinGet

// Chocolatey
> choco install graphviz

// WinGet
>  winget install graphviz

หากเราไม่มี Chocolatey หรือ WinGet ก็ดาวน์โหลดตัวติดตั้งเป็นไฟล์ .exe ในเว็บไซต์ของ GraphViz และดับเบิ้ลคลิกที่ไฟล์เพื่อติดตั้ง เมื่อมาถึงหน้าจอ Install Options เราจะต้องเลือกให้ GraphViz เพิ่มตัวรันโปรแกรมลงใน PATH ของ Windows เพื่อให้มันสามารถถูกเรียกใช้ได้จาก Command Line

รูปแสดงหน้าจอการติดตั้ง GraphViz ในส่วนของ Install Options ต้องเลือก Add GraphViz to the system PATH for all user หรือ  Add GraphViz to the system PATH for current user เพื่อให้ GraphVizสามารถถูกเรียกใช้ได้จาก Command Line

หลังจากติดตั้งเสร็จเรียบร้อย ให้เปิด Powershell หรือ Terminal ที่ใช้งานอยู่ โดยใช้สิทธิ์ของ Administrator แล้วพิมพ์ dot -c เพื่อลงทะเบียน Plugin ต่าง ๆ ของ GraphViz ให้ Windows รู้จัก

รูปแสดงหน้าจอ Powershell ที่พิมพ์ dot -c ลงไป

ต่อจากนั้นให้พิมพ์คำสั่ง dot -v เพื่อดูว่า GraphViz ถูกตั้งค่าเรียบร้อยแล้วหรือยัง?

รูปแสดงหน้าจอ Powershell ที่พิมพ์ dot -v ลงไป แล้วมีรายละเอียดการ Render ขึ้นมา

ถ้าขึ้นเวอร์ชัน และรายละเอียดการ Render ตามรูปนี้ แสดงว่าเราได้ติดตั้ง GraphViz เสร็จสมบูรณ์แล้ว ต่อไปเราก็ดาวน์โหลด SchemaSpy มาใช้ได้เลย

การดาวน์โหลด SchemaSpy

ให้ดาวน์โหลดที่ SchemaSpy.org 🔗 เราก็จะได้โปรแกรม SchemaSpy เป็นไฟล์ JAR มา (ในที่นี้ได้ไฟล์ชื่อ schemaspy-6.1.0.jar) สามารถใช้งานได้เลย ไม่ต้องติดตั้งลงเครื่อง

รูปแสดงเว็บไซต์ schemaspy.org

การใช้งาน SchemaSpy

เปิด Terminal แล้วไปที่โฟลเดอร์ที่เราเก็บโปรแกรมด้วยคำสั่ง cd พิมพ์คำสั่งผ่าน Terminal รูปแบบดังนี้

java -jar schemaspy-6.1.0.jar
     -t [database dialect]
     -db [database name]
     -s [schema name]
     -host [server address]
     -port [port]
     -u [user]
     -p [password]
     -o [output path]
     -dp [jdbc driver path]

ตัวอย่าง

java -jar schemaspy-6.1.0.jar -t mysql -db 'sample_database' -s 'sample_database' -host 'localhost' -port 3306 -u 'root' -p '123456' -o db-output -dp ./mysql-connector-java-8.0.23.jar

จากคำสั่ง ให้เราแทนที่ [...] ที่อยู่ในแต่ละ Argument (-xx) ด้วยข้อมูลของ Database ของเราเอง ทั้งนี้ หากเราต้องการดูความหมายและรายละเอียดของ Argument ต่าง ๆ เพิ่มเติม ก็สามารถดูที่ Document ของ GraphViz 🔗 ได้เลย

Note เกี่ยวกับบาง Argument เล็กน้อย (เท่าที่ลองใช้งานดู):

  • -t [database dialect] มีไว้กำหนดยี่ห้อหรือชนิดของฐานข้อมูล โดยทั่วไปให้ใช้ mysql สำหรับ MySQL, mariadb สำหรับ MariaDB, pgsql หรือ pgsql11 สำหรับ Postgresql, mssql08 สำหรับ Microsoft SQL Server รุ่น 2008 ขึ้นไป หากเราใช้ยี่ห้ออื่นนอกเหนือจากนี้ให้พิมพ์คำสั่งนี้เพื่อดูชื่อยี่ห้อ Database ทั้งหมดที่ SchemaSpy รู้จัก java -jar schemaspy-6.1.0.jar -dbhelp นอกจากชื่อยี่ห้อแล้ว คำสั่งนี้ยังแสดง Argument ที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละยี่ห้อด้วย
  • -s [schema name] มีไว้กำหนด Schema ที่เก็บตารางต่าง ๆ ใน Database บางยี่ห้อ จะมีการแบ่งหมวดหมู่เก็บตารางเป็น Schema ยกตัวอย่าง โดย Default Postgresql จะเก็บตารางต่าง ๆ ใน Schema ชื่อว่า public ส่วน Microsoft SQL Server จะเก็บตารางใน Schema ชื่อ dbo สำหรับ MySQL และ MariaDB จะไม่มี Schema แต่บางครั้ง SchemaSpy จะฟ้องให้ใช้ชื่อ Schema ลงไปด้วย หากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นให้ใส่ชื่อ Schema เป็นชื่อเดียวกับ Database แล้วจะสร้างเอกสารได้ (Solution มาจาก issue นี้ 🔗)
  • -o db-output ใช้กำหนด Path ของโฟลเดอร์ของเอกสารที่จะให้ SchemaSpy สร้างขึ้นมา
  • -dp [jdbc driver path] ใช้กำหนด Path ของ JDBC Driver เป็นไฟล์ JAR ที่เราดาวน์โหลดเก็บไว้ก่อนหน้านี้

เมื่อทำคำสั่ง ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง จะแสดงบน Terminal ดังรูปนี้

รูปแสดงผลลัพธ์หลังจากทำคำสั่ง ผลลัพธ์ที่ถูกต้องจะต้องแสดงว่า "เขียนเสร็จในเวลา ... วินาที"

แล้วโฟลเดอร์ตาม Path ที่กำหนดใน -o จะปรากฎขึ้นมา เมื่อเราไปเปิดดูจะเห็นไฟล์และโฟลเดอร์เยอะแยะเต็มไปหมด ทั้งหมดนี้เป็นส่วนประกอบของเอกสารที่ SchamaSpy สร้างขึ้น เมื่อเราจะเปิดอ่านก็ให้ดับเบิลคลิกที่ไฟล์ index.html เอกสารก็จะปรากฎขึ้นมาในหน้าต่าง Browser